ท้องผูก โรคฮิตที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน

อาการท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระยาก ถ่ายแข็งต้องออกแรงเบ่งมาก หรือนาน ๆ ถ่ายทีไม่บ่อยเหมือนเคย ท้องผูกเป็นปัญหาเรื่องการขับถ่ายที่พบบ่อย สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ได้แก่ การขาดกากใยอาหารที่ได้จากการย่อยอาหารประเภทผักผลไม้ กากใยเหล่านี้จะช่วยให้อุจจาระไม่เหนียวแข็งและถ่ายได้โดยง่าย อาการท้องผูกอาจเกิดจากการที่ร่างกายต้อง ปรับเปลี่ยนระบบขับถ่าย เช่น ช่วงระหว่างการเดินทาง ความเครียด การตั้งครรภ์เป็นต้น วัยสูงอายุก็อาจมีส่วนให้การขับถ่ายแปรปรวนได้เช่นกัน

การป้องกันอาการท้องผูกทำได้ไม่ยาก เพียงคุณปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืช ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ควรอั้นอุจจาระเมื่อร่างกายต้องการจะถ่าย ไม่ใช้ยาถ่ายพร่ำเพรื่อ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

คุณควรไปพบแพทย์เมื่อใด

* เมื่อมีอาการท้องผูกมากกว่า 1-2 สัปดาห์ หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 วัน แม้จะปรับเปลี่ยนอาหารแล้วก็ตาม
* อุจจาระมีเลือดปน
* มีอาการปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย
* มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย
* มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

คนปกติควรถ่ายทุกวันหรือไม่

บางคนอาจคิดว่าการไม่ถ่ายทุกวันแสดงว่าท้องผูก หรือคิดว่าการเก็บของเสียไว้นาน ๆ ร่างกายจะดูดซึมของเสียกลับเข้าไปใหม่ ความคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องจริง ที่จริงการขับถ่ายเป็นกิจวัตรที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน การถ่ายตั้งแต่วันละ 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถึงสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ไม่ถือว่าผิดปกติ ดังนั้นแม้คุณอาจไม่ได้ถ่ายทุกวันก็ไม่ควรกังวลเกินไป ถ้าคุณเป็นเช่นนั้นมานานมากจนเป็นนิสัยประจำไปแล้ว